Fixit Tip: รับมือสบายๆ กับปัญหาบ้านในหน้าฝน
ปัญหาผนังรั่วซึมในช่วงหน้าฝน เป็นปัญหาที่แทบทุกบ้านจะต้องเจอ
ซึ่งอาจจะทำให้เจ้าของบ้านต้องปวดหัว เพราะปัญหาผนังรั่วซึม
จัดได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา การเกิดเชื้อราบนฝาผนัง
สีหลุดร่อน ผนังแตกร้าว
น้ำ
คือตัวการสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้สีหลุดร่อน
น้ำหรือความชื้นที่ขังอยู่ระหว่างสีและผิวของไม้หรือผนังทำให้สีหลุดร่อน ผนังแตก
และอาจเกิดเชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ได้ทำความสะอาดพื้นผิวก่อนการทาสี
ความชื้นอาจจะเข้าสู่เนื้อวัสดุได้ง่าย ความเสียหายภายหลังฝนจึงมักปรากฏอยู่เสมอ
ปัญหานี้คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า
เมื่อทำการผสมน้ำยากันซึมลงไปในคอนกรีตแล้ว
จะทำให้น้ำยาสามารถกันน้ำรั่วซึมได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทว่า แท้จริงแล้ว ในขั้นตอนการทำงานซ่อมแซมผนัง
ยังมีโอกาสอีกมากที่จะเกิด “รูพรุนรั่วซึม” หรือที่เรียกว่า
“การเกิดช่องว่างในเนื้อคอนกรีต” ซึ่งจะทำให้น้ำสามารถซึมผ่านผนังกำแพงออกมาได้
นอกจากนี้
ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ผนังรั่วซึม อันได้แก่
โครงสร้างของกำแพงคอนกรีตที่ไม่มีโครงสร้างระบบกันซึม
และโครงสร้างที่เกิดรอยแตกร้าว เนื่องจากการทำงานหรือการก่อสร้างที่ไม่ถูกวิธี
หรือแม้แต่การเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงนั้น จนสามารถเกิดรอยแตกร้าว
ซึ่งเป็นจุดที่ให้น้ำสามารถรั่วซึมได้
หรืออาจจะเกิดจากผนังคอนกรีตที่สร้างไว้นานแล้ว
เกิดการเสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งาน
เริ่มจาก ผนังปูน
(ก่ออิฐฉาบปูน) ผนังประเภทนี้มีปัญหาสากลคือ การร้าว สาเหตุของการร้าวมีดังนี้
-
อิฐทรุดตัว
ส่งผลให้ปูนฉาบร้าว หากทรุดตัวมากผนังจะเสียรูปคือ บวม หรือเบี้ยว
ต้องมีการทุบและก่อใหม่แต่ส่วนมากไม่รุนแรงมากการแก้ไขทำได้โดยสกัดผิวและฉาบแต่งใหม่ด้วยปูนฉาบหรือวัสดุกันซึมต่างๆ
-
ปูนฉาบหัวตัว สาเหตุหลักมาจากช่วงเวลาของการฉาบปูนภายนอกอาคาร
หากฉาบในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัดหรือผนังอยู่ฝั่งที่โดนแสงแดดโดยตรงจะส่งผลให้ผนังหดตัว
เนื่องจากปูนฉาบแห้งเร็วเกินไปการแก้ไขทำได้โดยยาแนวรอบรอยร้าว
ด้วยวัสดุกันซึมที่ไม่มีการยืดหดตัวสูง
-
การรั่วซึมอีกอย่างของผนังปูนคือ การฉาบผนังเพียงด้านเดียว
พบมากกับอาคารประเภทตึกแถว
การก่อผนังแล้วปล่อยเปลือยจะส่งผลให้น้ำซึมผ่านรอยต่อของอิฐเข้ามาสู่ผนังด้านใน
เนื่องจากไม่มีปูนฉาบเป็นตัวขวางกั้น อีกทั้งตัวอิฐมอญ (อิฐแดง), คอนกรีตบล็อก
(สีเทาๆ) หรือคอนกรีตมวลเบา (สีขาวๆ) จะมีคุณสมบัติในการดูดซึมน้ำ
ดังนั้นนอกจากน้ำจะรั่วแล้วผนังยังจะชื้นตลอดเวลา
ทางที่ดีควรจะฉาบผนังทั้งสองด้านและผนังด้านนอกควรผสมกันซึมลงในปูนฉาบด้วย
-
ปูนฉาบหรือวัสดุเคลือบผิวหมดสภาพ
ตามอายุการใช้งาน สีทาอาคารควรจะมีอายุการใช้งานสูงสุด 10 ปี ดังนั้นต้องหมั่นดูแลรักษา
ทาสีเพื่อรักษาตัวปูนฉาบด้วย ส่วนปูนฉาบจะมีอายุการใช้งานประมาณ 20-25 ปี
หลังจากนั้นเนื้อปูนจะสูญเสียประสิทธิภาพ
ลักษณะจะร่วนและไม่เกาะตัวทำให้อาคารเก่าบางแห่งรั่วซึม
เนื่องจากปูนฉาบอาคารหมดสภาพขาดการดูแลรักษา
การหมั่นตรวจสอบและซ่อมแซมการใช้วัสดุทาผิวที่มีคุณสมบัติดีป้องกันแสงแดด
และมีการยึดเกาะสูงจะช่วยยืดอายุการใช้งานของผนังฉาบ
-
ผนัง บานประตู หน้าต่างที่เป็นไม้ สาเหตุหลักของบ้านฝาไม้ที่เกิดการรั่วซึม
เนื่องจากการยึดหดตัวของไม้ และการที่ไม้แตก สิ่งที่กระตุ้นอาการเหล่านี้ คือ
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอยู่ของเจ้าของเดิม
บ้านเหล่านี้ก่อสร้างภายใต้สภาพแวดล้อมอากาศตามธรรมชาติ
เมื่อเวลาผ่านไปการใช้เครื่องปรับอากาศกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต
มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อลดความร้อน จากสภาพอากาศ
เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิภายในกับภายนอก ทำให้ไม้เกิดการยึดหดตัวอย่างรุนแรง
เกิดร่องรอย และแผ่นไม้แตกตามรอยตะปู
เนื่องจากการบิดตัวส่งผลให้น้ำสามารถลอดผ่านเข้ามาภายในบ้าน การแก้ไข
คือหากต้องการติดเครื่องปรับอากาศ
ท่านจะต้องลงทุนกรุผนังภายในด้วยยิปซัมบอร์ดเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในไว้และป้องกันความร้อนเข้า
และเนื่องจากยิปซัมต้องมีโครง อากาศภายในช่องว่างจะทำหน้าที่เป็นฉนวน
ซึ่งจะช่วยประหยัดไฟด้วย เนื่องจากทำห้องให้เป็นเหมือนคูลเลอร์
ในส่วนอื่นๆ
ของบ้านที่เจ้าของบ้านควรเอาใจใส่เช่นกัน คือ สวนหน้าบ้าน
เพราะบางครั้งประสบปัญหาน้ำท่วมขัง บริเวณสวน
จนทำให้ต้นไม้สุดรักสุดหวงของท่านล้มตายระเนระนาด การแก้ปัญหาก็ทำได้ง่ายๆ ดังนี้
-
การพรวนดินให้ร่วนซุยเป็นประจำจะทำให้ดิน
โปร่ง มีช่องว่างให้ดินดูดซับน้ำไว้ได้มาก
และทำให้น้ำซึมซับลงในระดับที่ลึกกว่าปกติทำให้ดินไม่ชังน้ำและทำให้รากเน่า
-
ทำทางระบายน้ำในสวน
อาจจะทำพื้นเอียงลาดชันเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็ว
-
หมั่นเก็บกวาดเศษใบไม้ บริเวณสวน
เพื่อไม่ให้ใบไม้ไปอุดตันบริเวณท่อน้ำ
เพราะฉะนั้น
การเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาบ้านในหน้าฝนนั้นจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านควรหมั่นดูแลรักษาอยู่เสมอ
และไม่ควร หลีกเลี่ยงเกี่ยงทำเป็นอย่างยิ่ง
เพราะผนังบ้านมีจุดอ่อนมากมายทิ่อาจจะสร้างปัญหาจนทำให้ต้องปวดหัว
และอาจเสียค่าใช้จ่ายในจำนวนสูง ซึ่งในขณะที่ท่านกำลังอ่านบทความนี้อยู่
ตัวท่านเอง หรือบางท่านอาจกำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ก็ได้...

