Fixit Tip: รู้สักนิดก่อนคิดต่อเติมบ้าน
หนึ่งในความฝันของคนทั่วไปก็คืออยากมีบ้านเป็นของตัวเอง
แต่เชื่อแน่ว่าความฝันของคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มีบ้านเป็นของตัวเองเสร็จสรรพแล้ว
ก็คืออยากจะต่อเติมโน่นนิด แต่งเติมนี้หน่อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ตัดสินใจซื้อบ้านสำเร็จรูปสร้างเสร็จพร้อมอยู่อาศัย อยู่ๆ
ไปก็อาจจะเกิดอาการเบื่อ คันไม้คันมืออยากแต่งเติมบ้านให้สวย สะดวก
และเหมาะสมแก่การอยู่อาศัยในชีวิตประจำวัน
แต่รู้ไหมว่า การต่อเติมบ้านนั้น
แม้จะเป็นบ้านของเราเองแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสะดวกง่ายดายนัก
จึงมีข้อควรคำนึงถึงเมื่อคิดอยากจะต่อเติมบ้าน ดังนี้
ข้อที่ควรคำนึงถึงการต่อเติมบ้าน
1.
ต้องการอะไรจากส่วนที่ต่อเติม –
มีความจำเป็นแค่ไหนและคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าคิดแล้วว่ามีความจำเป็นและคุ้มค่าที่จะต่อเติม
ก็ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ
ขอแนะนำให้ปรึกษาสถาปนิกหรือวิศวกรโครงสร้างประกอบการตัดสินใจด้วยจะดีมาก
2.
ดูข้อจำกัดของการต่อเติม – ว่ามีที่ดินเพียงพอในกรณีขยายในแนวราบ
และดูโครงสร้างว่ารับน้ำหนักได้หรือไม่ในกรรีขยายแนวดิ่งซึ่งประเด็นนี้
เจ้าของบ้านต้องศึกษากฎหมาย (พระราชบัญญัติ) โดยเฉพาะระยะการเว้นจากแนวเขตที่ดิน
และความรู้ด้านวิศวกรรมโครงสร้าง
โดยสังเขปกฎหมายกำหนดให้อาคารที่ปลูกสร้างต้องเว้นระยะห่างจากที่ดินตามชนิดอาคารและความสูขหรือจำนวนชั้น
เพื่อเหตุผลด้านสุขลักษณะ สิ่งแวดล้อม การลุกลามของไฟในกรณีที่เกิดไฟไหม้
รวมถึงปัญหาระหว่างการก่อสร้างที่อาจส่งผลติ่ที่ดินข้างเคียง
3.
มีงบประมาณเท่าไหร่ – โดยให้คำนึงถึงราคาที่เสียไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่จะได้
4.
พิจารณาผลกระทบที่จะตามมา – อาทิเช่น รูปลักษณ์อาคารโดยรวมจะเปลี่ยนไปทางไหน,
ผลกระทบของแสงแดด ลม แสงสว่าง ฝนสาด, มุมมอง, การทรุดตัวของโครงสร้าง, ระบบงาน
เช่น น้ำ ไฟ ท่อระบายน้ำ, รอยรั่วหรือความไม่เรียบร้อยของงานก่อสร้างต่างๆ
5.
เจรจาขออนุญาตจากเพื่อนบ้าน – แม้จะไม่ใช่ข้อบังคับ
แต่ก็ถือเป็นมารยาทที่พึงปฏิบัติ เพราะเพื่อนบ้านคือคนที่ต้องอยู่ข้างๆ
คุณไปนานแสนนาน ถ้าเกิดคุณต่อเติมอะไรแล้วไปกระทบ
ก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่สบายใจแก่เพื่อนบ้าน การอยู่อาศัยในบ้านหลังสวยของคุณคงจะไม่ค่อยน่ารื่นรมย์เท่าไหร่
6.
เมื่อศึกาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
และไม่มีข้อขัดข้องใดๆ
ก็ถึงขั้นตอนการขออนุญาตปลูกสร้างต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นของเจ้าของบ้านอาจเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล
สำนักงานเขต เทศบาล หรือส่วนจังหวัด โดยการยื่นขออนุญาตนั้นต้องยื่นแสดงแบบแปลน
(ทำสำเนา 5 ชุด) ซึ่งแสดงแนวอาคารเดิมอ้างอิงในที่ดิน โฉนดที่ดิน ออกแบบโดยสถาปนิกหรือวิศวกรพร้อมลงนามแนบสำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
พร้อมข้อมูลของเจ้าของบ้าน กรอกแบบฟอร์มขออนุญาตดัดแปลงต่อเติม
นี่คือข้อที่พึงคำนึงถึงเมื่อคิดจะต่อเติมบ้าน
อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ อีกบ้าง ก็คงแล้วแต่รายละเอียดที่แตกต่างกันไป

